ผ้าทอพื้นเมืองภาคใต้มีทั้งผ้าไหม
ผ้าฝ้าย หรือผ้าด้าย และผ้าด้ายปนไหม ซึ่งแต่ละแห่งจะมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ตลอดจนมีกรรมวิธีหลายอย่างที่จะทำให้ผ้าทอเมืองแต่ละแหล่งลวดลายสีสันสวยงาม ได้แก่
วิธีการทอผ้า การมัดย้อมลวดลาย และการพิมพ์ลายหรือเขียนและย้อมสี
วิธีการทอผ้า การทอผ้าภาคใต้แบ่งออกเป็นการทอผ้าพื้น
และการทอผ้ายกดอก
การทอผ้าพื้น
คือ การทอผ้าเนื้อเรียบ โดยใช้เขา 2 เขา หรือ 2 ตะกอ ได้แก่ การทอผ้าพื้นสี
ผ้าลายตาราง และผ้าลายหางกระรอก
ผ้าพื้นสี
การทอผ้าพื้นสีจะใช้เส้นยืนและเส้นพุ่งสีเดียวกัน ทอสานขัดกัน
จะได้เนื้อผ้าสีเดียวกัน
ผ้าพื้นลายตาราง
การทอผ้าพื้นลายตารางจะต้องเตรียมเส้นยืน โดยค้นด้ายยืนสลับสีกันเป็นช่วงๆ
มีตั้งแต่ 2 สีขึ้นไป แล้วใช้เส้นพุ่งสีเหมือนกัน จำนวนเท่ากัน
ทอสลับสานขัดเป็นเนื้อผ้าลายตาราง
สำหรับผ้าลายตารางจะนิยมทอเป็นผ้าโสร่งผู้ชายและผ้าขาวม้า โดยเฉพาะผ้าข้าขาวม้า
ซึ่งทอที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จะใช้เส้นด้ายตั้งแต่ 5-7 สีขึ้นไป
ผ้าลายหางกระรอก
การทอผ้าลายหางกระรอกจะต้องควบเส้นด้ายพุ่งด้วยไหมหรือด้ายที่มีสีแตกต่างกันออกไป
ทำให้เส้นพุ่งมีสองสี เมื่อทอเส้นพุ่งสานขัดกับเส้นยืน ทำให้ผ้ามีลวดลายสวยงาม
คล้ายหางกระรอก สำหรับการทอผ้าลายหางกระรอกที่ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง
จังหวัดตรัง ใช้เส้นพุ่งสองกระสวยหรือสองตรน เรียกว่า “ผ้าหางกระรอกสองตรน”
เป็นผ้าที่มีลวดลายสวยงาม ต่างไปจากผ้าลายหางกระรอกที่ทอจากแหล่งอื่น
การทอผ้ายกดอก
ผ้ายกดอกคือผ้าที่มีลวดลายนูนเด่นกว่าส่วนที่เป็นพื้นผ้าการทอผ้ายกดอกจะต้องเตรียมเส้นยืนโดยการก่อเขา
หรือเก็บตะกอลายผ้า
เพื่อยกหรือดึงเส้นยืนบางส่วนขึ้นและข่มหรือดึงเส้นยืนบางส่วนลง ทำให้เกิดช่องว่างสำหรับพุ่งกระสวยเข้าไปสานขัดกับเส้นยืน
ผ้าทอยกดอกจะมีเขาหรือตะกอตั้งแต่สี่เขา หรือสี่ตะกอขึ้นไป
จำนวนเขาหรือตะกอขึ้นอยู่กับความละเอียดซับซ้อนของลวดลายผ้า
นอกจากนี้ความสวยงามของลายผ้ายังขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้เป็นเส้นยก
ซึ่งมีทั้งเส้นไหม ด้ายเส้นทอง เส้นเงิน หรือดิ้นทองและดิ้นเงิน
สำหรับผ้าที่ทอลวดลายแบบยกดอกในภาคใต้ปัจจุบัน ได้แก่ ผ้าทอนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
ผ้าทอเกาะยอ จังหวัดสงขลา ผ้าทอพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ้าทอนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง
ผ้าทอแพรกหา และผ้าทอลานข่อย จังหวัดพัทลุง ส่วนลายที่นิยมทอกันทั่วไป เช่น
ลายดอกพิกุล ลายดอกก้านแย่ง ลายตาสมุก และลายราชวัตร
อย่างไรก็ตามแม้ชื่อลายบางลายในแต่ละถิ่นจะเหมือนกัน
แต่รูปแบบของลวดลายที่ปรากฏจะไม่เหมือนกัน เช่น ลายดอกพิกุล ที่ตำบลพุมเรียง
อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี จะต่างไปจากลายดอกพิกุล ที่ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง
จังหวัดสงขลา เป็นต้น
การมัดย้อมลายผ้า
เป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดลวดลายบนผืนผ้า โดยการมัดลายแล้วนำไปย้อมสี
วิธีการมัดย้อมลายผ้า มี 2 แบบ คือ
การมัดย้อมผ้าที่ทอเสร็จแล้วและการมัดย้อมลวดลายของเส้นพุ่งก่อนการทอผ้า
การมัดย้อมลายเส้นไหมพุ่ง
เป็นขั้นตอนการเตรียมเส้นไหมพุ่ง
โดยการมัดย้อมเส้นไหมตามสีและลวดลายที่ต้องการก่อนที่จะใช้เส้นพุ่งกลุ่มนั้นทอสานขัดกับเส้นยืน
ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าจะเป็นแบบลายที่ได้มัดย้อมไว้
สำหรับการทอผ้าที่เตรียมเส้นไหมพุ่งแบบนี้ได้แก่ การทอผ้าไหมลีมา
ที่จังหวัดปัตตานี เมื่อประมาณ 70-100 ปีมาแล้ว
ผ้าลีมานี้ชาวมุสลิมภาคใต้สมัยโบราณจะใช้นุ่งในงานพิธีกรรม เช่นพิธีแต่งงาน
พิธีเข้าสุหนัตหรือใช้คลุมศพ ปัจจุบันมีการส่งเสริมการทอผ้าชนิดนี้ขึ้นใหม่ที่
อำเภอโคกโพธิ์และอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี
การพิมพ์ลายหรือเขียนลายและย้อมสี
เป็นวิธีการอีกแบบหนึ่งที่จะทำลวดลายบนผืนผ้าโดยใช้เทียนพิมพ์หรือเขียนเคลือบปิดลายไว้ก่อนย้อมสี
ได้แก่การพิมพ์ลายผ้าปาเต๊ะ และการเขียนลายผ้าบาติก
ปัจจุบันมีแหล่งผลิตอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ภูเก็ต สงขลา สุราษฎรธานี
กรรมวิธีการทอผ้าหรือทำให้ผ้ามีลวดลายงดงามดังกล่าวนี้
เป็นกระบวนการที่ผ่านการค้นคว้า ทดลอง มาเป็นเวลานาน
ดังนั้นผ้าทอพื้นบ้านจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาและฝีมือเชิงช่างของชาวภาคใต้