เปิดให้บริการวันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลา: 08:30 - 17:30 น. น.

ภูมิปัญญาในการคัดสรรวัสดุและเครื่องมือที่ใช้ในการทอ 4

  • หน้าแรก
  • ภูมิปัญญาในการคัดสรรวัสดุและเครื่องมือที่ใช้ในการทอ 4
4 ต.ค.
Awesome Image

ภูมิปัญญาในการคัดสรรวัสดุและเครื่องมือที่ใช้ในการทอ 4

การทอผ้า มีเครื่องมือสำหรับทอผ้า คือ กี่ หรือหูก ซึ่งภาคใต้เรียก เก หรือ โหก กรรมวิธีการทอผ้ามีพัฒนามาจากการถัก การทอเป็นวิถีสานลักษณะหนึ่งเช่นเดียวกับสานเครื่องจักรสาน แต่การทอผ้าฝ้าย เส้นไหม ขนสัตว์ หรือวัตถุ อื่นที่เป็นเส้นแทนตอก การทอเริ่มจากการใช้เส้นฝ้ายหรือเส้นไหมที่เป็น เส้นยืน ในแนวตั้งละใช้ เส้นพุ่ง ในแนวนอน สอดขัดกันไปอย่างต่อเนื่อง ในลักษณะยกขึ้นและข่มลง ให้เส้นใยสอดขัดสลับกันไปเรื่อยๆ จนได้ผืนผ้าตามต้องการ

กรรมวิธีการทอผ้าที่เก่าแก่ที่สุด อาจเริ่มจากการทอที่คล้ายการสาน โดยไม่มีเครื่องมือช่วย เริ่มจากใช้แผ่นหลังของผู้ทอ ดึงด้ายเส้นยืน โดยผู้ทอนั่งเหยียดเท้าไปข้างหน้า ใช้ปลายข้างหนึ่งของด้านเส้นยืนพันรอบเอวปลายอีกข้างหนึ่งผูกกับไม้ขวางตามความกว้างของหน้าหน้าผ้า แล้วโยงยึดกับเสาเรือนหรือต้นไม้ ผู้ทอจะต้องก้มและยืดตัวขึ้น สลับกับการสอดด้ายเส้นพุ่งเข้าไประหว่างเส้นยืนด้วยไม้ สลับกับการกระทบเส้นด้ายพุ่งให้เรียงกันแน่นด้วยแผ่นไม้บางๆ การทอประเภทนี้ยังไม่ใช้ฟืม ผ้าจึงไม่เรียบและแน่น มักใช้ในการทอผ้าหน้าแคบ วิธีการทอลักษณะเช่นนี้ ปัจจุบันชาวไทยภูเขาและชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบางกลุ่มยังทอกันอยู่ เพราะทอได้สะดวกไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก

เครื่องมือทอผ้าพัฒนามาเป็นลำดับ จากผ้าทอหน้าแคบด้วยแผ่นหลัง นั่งกับพื้นเหยียดเท้าไปข้างหน้า มาเป็นการทอแบบนั่งห้อยขา มีฟืมสำหรับกระทบ สามารถทอผ้าได้หน้ากว้างมากขึ้น ต่อมาได้พัฒนาเป็นเครื่องทอผ้าพื้นบ้านที่เรียกว่า กี่หรือหูก ทำด้วยไม้เป็นโครงสี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่าประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน เรียกว่า ปังกี่หรือโป่กี่ เมื่อประมาณ 1,800 ปีมาแล้ว กี่พื้นบ้านประกอบด้วยโครงสร้างไม้ มีสี่เสา มีไม้คานกี่เป็นโครงยึด โครงสร้างของกี่มี ไม้คำพัน ยึดด้ายเส้นยืน และเป็นที่ม้วนเก็บผ้าที่ทอแล้ว ไม้ไขว้ ไม้ด้านหัวกี่ที่ช่วยยึดเส้นด้ายยืนให้ตึง นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของกี่หรือหูกทอผ้าคือ ฟืม ซึ่งเป็นเครื่องกระทบเส้นพุ่งที่พัฒนามาจากการใช้ไม้ ฟืมทำด้วยไม้หรือเหล็กเป็นซี่ๆ คล้ายหวี เพื่อให้สอดด้ายเส้นยืนผ่านเข้าไปได้ ฟืมจะกระทบให้เส้นพุ่งที่สอดขัดกับเส้นยืนเรียงกันสนิท นอกจากนี้ฟืมยังเป็นตัวกำหนดขนาดกว้างของหน้าผ้าด้วยช่องฟันหวี เช่น ฟืมขนาด 200 ช่องฟันหวี หรือฟืม 4 หลบ 1 หลบเท่ากับ 40 ช่อง

ส่วนประกอบที่สำคัญของกี่อีกอย่างหนึ่งคือ ไม้ขัดร่องเขา ไม้ไผ่กลมๆ ที่เป็นตัวยึด ด้ายเส้นยืนให้ยกขึ้นหรือดึงลงตามรูปแบบของลวดลายของผ้าที่ต้องการจะทอ โดยผูกโยงไว้กับไม้เหยียบหูก ซึ่งผู้ทอจะใช้เท้าเหยียบให้ขึ้นลงคล้ายกับการยกเส้นตอกในการสานเครื่องจักร การเหยียบไม้หูก จะต้องสัมพันธ์กับการพุ่งกระสวย ซึ่งเป็นไม้ขนาดเล็ก ตรงกลางป่องคล้ายเรือ มีร่องสำหรับใส่หลอดด้ายที่จะใช้เป็นเส้นพุ่ง (เดิมในภาคใต้บางถิ่นใช้ ตรน ใส่หลอดด้ายพุ่งแทนกระสวย) โดยพุ่งสลับกันจากริมผ้าด้านขวาไปซ้าย จากซ้ายไปขวา สลับกับการกระทบฟืม ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผืนผ้าตามความต้องการ กระสวยจึงเป็นเครื่องสำคัญซึ่งมนุษย์พัฒนาขึ้นแทนการสอดเส้นด้ายพุ่งด้ายนิ้ว ทำให้ทอผ้าได้รวดเร็ว แต่การพัฒนาเครื่องทอผ้าของมนุษย์มิได้หยุดเพียงเท่านั้น มนุษย์ได้คิดวิธีสอดกระสวยผ่านด้ายเส้นยืนกลับไปกลับมาให้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย

กี่กระตุก เป็นเครื่องทอผ้าที่พัฒนามาจากกี่พื้นบ้าน โดยการพุ่งด้ายเส้นพุ่งหรือเส้นนอน ด้วยการกระตุกสายบังคับให้เกิดแรงกระแทก ส่งกระสวยให้วิ่งไปแล้วกลับมา สลับกับการกระทบฟืม ทำให้ทอผ้าได้รวดเร็วกว่าการทอผ้าด้วยกี่ธรรมดา กี่กระตุก เป็นการเรียกตามลักษณะการพุ่งกระสวยที่วิ่งสลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว ต่อมาเครื่องทอผ้าก็ได้พัฒนาขึ้นโดยชาวตะวันตกสามารถสร้างเครื่องจักรมาใช้ทอผ้าแทนแรงงานคนได้สำเร็จ ในสมัยของการปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรปในพุทธศตวรรษที่ 24 ทำให้หัตถกรรมการทอผ้าด้วยมือ และแรงมนุษย์เปลี่ยนมาเป็นการทอด้วยเครื่องจักร การทอผ้าจึงกลายเป็นผลผลิตทางอุตสาหกรรมอย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

Tags: ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้