เปิดให้บริการวันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลา: 08:30 - 17:30 น. น.

ภูมิปัญญาในการคัดสรรวัสดุและเครื่องมือที่ใช้ในการทอ 1

  • หน้าแรก
  • ภูมิปัญญาในการคัดสรรวัสดุและเครื่องมือที่ใช้ในการทอ 1
4 ต.ค.
Awesome Image

ภูมิปัญญาในการคัดสรรวัสดุและเครื่องมือที่ใช้ในการทอ 1

ภูมิปัญญาดังกล่าวนี้ เป็นมรดกที่สืบทอดมาจากกระแสการไหลเวียนทางวัฒนธรรมของจีน อินเดีย และตะวันตกที่ผ่านเข้ามาในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เป็นกระแสภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทอผ้ามีลักษณะร่วมกันทั่วเอเซียหรือทั่วโลก การทอผ้า ลวดลาย ผ้า รวมทั้งผู้ทอมีภูมิปัญญาในการสืบทอดทอลวดลายผ้าดั้งเดิมและมีการคิดประดิษฐ์ลวดลายขึ้นใหม่ ในส่วนของการผลิตเส้นใยที่ใช้ในการทอผ้า ภาคใต้มีสภาพภูมิอากาศไม่เหมาะในการปลูกพืชที่ใช้ทำเส้นใยในการทอผ้า เช่น ฝ้าย ป่าน ปอ กัญชา หรือปลูกต้นหม่อนที่ใช้เลี้ยงไหม แม้จะมีการปลูกพืชดังกล่าวอยู่บ้างในบางท้องที่แต่มีจำนวนน้อยและไม่ค่อยได้ผล แต่เนื่องจากภาคใต้มีสภาพภูมิประเทศที่เหมาะจะเป็นท่าเรือ ดังนั้นในสมัยก่อนช่างทอผ้าชาวภาคใต้จึงซื้อเส้นใยที่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างถิ่น เช่น เส้นไหมจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น หรือ ฝ้าย ป่าน ปอ จากอยุธยาและภาคอีสานของไทย แต่เพื่อให้เข้าใจถึงการผลิตเส้นใยที่ใช้ในการทอผ้า จึงจะกล่าวถึงการผลิตเส้นใยในท้องถิ่นอื่น เช่น ภาคอีสานและภาคเหนือ รวมทั้งการย้อมสีเส้นใย และเครื่องมือเครื่องใช้ในการทอผ้าซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สร้างสมถ่ายทอดสืบต่อกันมา

มนุษย์รู้จักนำเส้นใย ป่าน ปอ กัญชา มาใช้ในการทอผ้าตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัสดุสำคัญที่มนุษย์นำเข้ามาใช้เส้นใยสำหรับทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ ฝ้ายและไหม ซึ่งมีกรรมวิธีการผลิตดังนี้

ฝ้าย เป็นไม้พุ่มมีหลายชนิด เมล็ดให้น้ำมัน ปุยหุ้มเมล็ดใช้ทอผ้า เรียกว่า ผ้าฝ้าย เดิมฝ้ายเป็นไม้ป่า ต่อมามนุษย์นำมาปลูก เพื่อนำมาใช้ทอผ้า เรียกว่า ฝ้ายปลูกซึ่งทำให้เส้นใยยาวและเหนียวกว่า  ฝ้ายป่า การนำฝ้ายมาใช้ทอผ้า หลังจากการใช้ปอ แต่ฝ้ายมีเส้นใยอ่อนนุ่ม ปั่นเป็นเส้นใยและย้อมสีง่ายกว่าปอ จึงได้รับความนิยมมากกว่าสันนิษฐานว่ามีการปลูกฝ้ายและปั่นฝ้ายในประเทศอินเดียเมื่อ 2,500 ปีก่อนพุทธกาลและการทอผ้าฝ้ายในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

การผลิตเส้นด้ายจากฝ้าย การเก็บสมอฝ้ายหรือดอกฝ้ายเพื่อนำปุยฝ้ายมาทอผ้าจะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ฝ้ายแตกสมอแล้ว ทำให้เก็บได้ง่าย ต้องเลือกเก็บแต่ปุยฝ้ายที่สะอาดเท่านั้น การเก็บต้องดึงเอาเฉพาะปุยฝ้ายออกจากกลีบสมอใส่ถุงหรือกระสอบไว้ หากจำเป็นต้องเก็บฝ้ายที่ยังชื้นอยู่ต้องผึ่งแดดให้แห้ง ปุยฝ้ายที่แห้งสนิทจะฟู แยกเมล็ดออกจากปุยได้สะดวก การแยกเมล็ดต้องใช้เครื่องหีบฝ้ายหรือเครื่องอิ้วฝ้าย เมื่อได้ปุยฝ้ายแล้วต้องนำไปดีดด้วยกงดีดฝ้าย เพื่อให้ปุยฝ้ายแตกฟูเป็นเนื้อเดียวกันคล้ายสำลี ปุยฝ้ายมักมีสีขาวและสีน้ำตาลอ่อน นำปุยของฝ้ายแตกฟูเป็นเนื้อเดียวกันคล้ายสำลี ปุยฝ้ายมักมีสีขาวและสีน้ำตาลอ่อน นำปุยของฝ้ายที่ปั่นจนฟูแล้ว มาแผ่เป็นแผ่นบางๆ บนกระดานล้อฝ้าย แล้วใช้ไม้ล้อที่มีลักษณะ กลม ม้วนฝ้ายให้เป็นหลอด แล้วถอดไม่ออก เรียกว่า ล้อฝ้าย ส่วนฝ้ายนี้ที่ม้วนเป็นหลอดนี้เรียกว่า ดิ้ว ลูกหนู ลูกหมู หรือตัวหนอน เพื่อนำไปเข็นหรือปั่นให้เป็นเส้นฝ้ายหรือเส้นด้าย เครื่องมือปั่นด้ายที่เก่าแกคือ แว ซึ่งทำด้วยดินเผา เปลือกหอยหรือกระดูก โดยทำเป็นแผ่นกลมขนาดใหญ่กว่าหัวแม่มือเล็กน้อย ตรงกลางมีรูสำหรับเสียบไม้สำหรับปั่นด้ายเป็นเกลียว แวเป็นเพียงเครื่องถ่วงน้ำหนักให้เกิดแรงเฉื่อยหมุนรอบตัวเองอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปลายไม้ที่ทำเป็นเงี่ยงไว้กี่จะหมุนรอบตัวเอง สาวปุยฝ้ายให้พันกันอย่างต่อเนื่องจนเป็นเส้นด้ายยาวตามต้องการ

ต่อมามีการพัฒนาเครื่องปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย เรียกว่า ไน ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นจากแนวคิดดั้งเดิมคือการให้กงล้อหมุนอยู่กับที่ โดยมีแกนกับเพลาอยู่ตรงจุดศูนย์กลางใช้มือหมุนให้กงล้อหมุนรอบตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีเชือกโยงเป็นสายพานโยงไปยังเหล็กใน (เหล็กกลมปลายแหลมที่หมุนปั่นปุยฝ้ายให้เป็นเกลียวและกรอเข้าหลอดด้ายอย่างรวดเร็ว การปั่นด้ายผู้ปั่นต้องมีความชำนาญจึงจะปั่นด้ายเป็นเส้นเสมอกันและไม่ขาด ผู้ปั่นด้ายจะต้องสาวปลายปุยฝ้ายที่คลึง (ล้อฝ้าย) เป็นหลอด (ดิ้ว) ไว้แล้วให้เป็นเส้นต่อเข้ากับเหล็กใน (โคนเหล็กในมีแผ่นกระดาษหรือเปลือกไม้กลมๆ คั่นไม่ให้เส้นด้ายเข้าไปพันห่วงเหล็กไน) แล้วใช้มือขวาหมุนกง มือซ้ายดึงและผ่อนไปตามการตีเกลียว หรือการปั่นของเหล็กใน เส้นด้ายที่ตีเกลียวเป็นเส้นแล้วจะพันอยู่รอบๆ เหล็กใน จนได้ขนาดตามต้องการแล้วจึงสาวเข้าระวิง แล้วจับเป็นไจๆ เพื่อนำไปทำตามกรรมวิธีอื่นๆ ได้สะดวก ระวิง เป็นเครื่องกรอด้ายที่ปั่นจากไน เป็นเส้นแล้ว ให้เรียงกันเป็นระเบียบ เป็นไจๆ ก่อนที่จะนำไปฟอก ย้อม หรือทำตามกรรมวิธีอื่น เพื่อให้ได้เส้นด้ายที่มีคุณสมบัติตามต้องการ

การย้อมสีด้าย นำด้ายไปต้มน้ำให้สะอาดแล้วตากแดดให้แห้ง จึงนำไปย้อมสีที่สกัดจากพืช เช่น ต้นคราม เพกา มะตูม มะเกลือ ขมิ้น ขนุน ฯลฯ ที่ได้ด้วยการหมักหรือต้มจนได้น้ำสี จึงเติมน้ำที่ได้จากพืชที่มีรสเปรี้ยว หรือน้ำด่างอ่อนๆ ที่ได้จากวัตถุดิบตามธรรมชาติ ในปริมาณที่เหมาะสม สีบางชนิดใช้วิธี “ย้อมร้อน” จึงจะติด โดยต้มเส้นด้ายในถังสีจนได้ที่ จึงนำด้ายที่ย้อมไปทุบให้สีแทรกซึมดี นำไปซักและตากให้แห้ง สีบางชนิดใช้วิธี “ย้อมเย็น” คือการจุ่มเส้นด้ายลงในน้ำย้อมแล้วบีบ หรือแช่เส้นด้ายไว้จนได้สีที่ต้องการจึงนำไปตาก เมื่อตากด้ายย้อมสีจนแห้งแล้ว จึงนำไปใส่กงปั่นฝ้าย เพื่อดึงเส้นด้ายจากกงไปกวักฝ้าย เอาเส้นฝ้ายที่กวักได้มากพอไปปั่นเข้าหลอด โดยแยกเส้นด้ายออกเป็น เส้นพุ่ง ดึงเส้นด้ายเข้าหลอด หรือเรี้ยหันด้ายพุ่ง ที่เสียบไว้กับแกนเหล็กในจนเต็มหลอด จึงเปลี่ยนหลอดใหม่แทนที่จนพอกับความต้องการ จึงนำหลอดด้ายพุ่งไปใส่ในกระสวยที่เป็นอุปกรณ์สำหรับพุ่งทอผ้าต่อไป ส่วนเส้นยืน ต้องนำไปแช่น้ำข้าวหรือแป้งข้าวเหนียว บีบให้น้ำแป้งเข้าทั่วถึง จึงบิดพอหมาด แล้วนำไปตากจนแห้ง กรอใส่หลอดหรือ เรี้ยหันด้ายยืน แล้วนำไปแช่น้ำข้าวหรือแป้งข้าวเหนียว บีบให้น้ำแป้งเข้าทั่วถึง จึงบิดพอหมาด แล้วนำไปตากจนแห้ง กรอใส่หลอดหรือ เรี้ยหันด้ายยืน แล้วนำไปเดินบนม้า เดินเส้นด้ายยืนหรือหลักคัน (ถิ่นใต้) ดึงเส้นด้ายไปเกี่ยวกับหลักเผื่อ หรือลูกคราด (ถิ่นใต้) จนพอกับความต้องการแล้ว จึงเอาเส้นด้ายที่เฝือนั้นไปต่อเข้ากับ “ฟืม” โดยใช้ฟืม 16 กับผ้าหน้าแคบและฟืม 32 กับผ้าหน้ากว้าง การร้อยเส้นด้ายจากรู แล้วนำมาสอดกับฟันฟืมเรียกว่า การสืบหูก เมื่อสืบหูกแล้ว ต้องมีการตรวจสอบด้ายที่ฟืมว่าไม่มีการลัดรูฟืม ไม่ขาดไม่เกินจึงเริ่มทอได้


Tags: ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้