เปิดให้บริการวันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลา: 08:30 - 17:30 น. น.

ผ้าสมัยประวัติศาสตร์ ตอนที่ 6 อาณาจักรอยุธยา(2)

  • หน้าแรก
  • ผ้าสมัยประวัติศาสตร์ ตอนที่ 6 อาณาจักรอยุธยา(2)
4 ต.ค.
Awesome Image

ผ้าสมัยประวัติศาสตร์ ตอนที่ 6 อาณาจักรอยุธยา(2)

ต่างแลเกวียนเมืองนครราชสีมาบรรทุกสินค้าต่างๆ คือน้ำรัก ขี้ผึ้งปีกนก ผ้าตะราง ผ้าสายบัวสี่คืบน่าเกมทอง และผ้าตาบัวปอก ตาเลดงา แลหนังเนื้อ เอนเนื้อ เนื้อแผ่น ครั่ง ไหม กำยาน ดีบุก หน่องา ของป่าต่างๆ เกวียนเมืองพระตะบอง พวกเขมรบรรทุกลูกเร่ว กระวาน ไหม กำยาน ครั่ง หน่องา แลผ้าปูม แพรญวน ทองพราย พลอยแดง แลสินค้าต่างๆ” จากข้อความนี้จะเห็นได้ว่า นอกจากของป่า เครื่องเทศ ดีบุก ไหมและครั่งที่ใช้ทำสีย้อมผ้าแล้ว ผ้าทอที่ผลิตได้ในท้องถิ่นก็เป็นสินค้าสำคัญสำหรับหัวเมืองที่นำมาจำหน่ายให้แก่ชาวกรุงศรีอยุธยา เช่น ผ้าตาตาราง ผ้าสายบัวสี่คืบ ผ้าตาบัวปอก ผ้าตาเล็ดงา จากนครราชสีมา ซึ่งผ้านี้อาจจะเป็นผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายก็ได้ สำหรับผ้าเขมรจากเมืองพระตะบอง ได้แก่ ผ้าปูม และผ้าแพรญวน เป็นต้น

ผ้าที่วางขายในตลาดทั่วไป เป็นผ้าสำหรับประชาชนและขุนนางใช้นุ่งห่ม ส่วนผ้าที่สวยงามมีคุณภาพ สำหรับราชสำนักใช้เป็นเครื่องฉลองพระองค์ของกษัตริย์ พระราชวงศ์ และเครื่องนุ่งห่มของข้าราชบริพาร ตลอดจนเครื่องยศของพวกขุนนาง ล้วนแต่เป็นผ้าที่มาจากต่างประเทศ เช่น ผ้าเยียรบับ ตาดเทศ กำมะหยี่ แพรหงอน ไก่ อัตลัค ยั่นตานี ยกทอง ยกเงิน โหมด ต่วน และสักหลาด แม้แต่ไพร่ชั้นเลว ทางราชการก็ให้แต่งตัวด้วยผ้าต่างประเทศ เช่น ผ้าบัสตู มัสรู กาสา ร้านค้าของหลวงเต็มไปด้วยผ้าลาย ผ้าพิมพ์ ผ้าดอก และผ้าสุหรัด ซึ่งส่งมาจากต่างประเทศเช่นกัน

ในสมัยกรุงศรีอยุธยานอกจากฝ้าจะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจแล้วผ้ายังเป็นเครื่องแสดงฐานะ ตำแหน่งของผู้สวมใส่ มีจดหมายเหตุของเหตุของโยสเชาเต็น พ่อค้าชาวฮอลันดาซึ่งเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2179 บันทึกว่า “ทั้งหญิงชายแต่งตัวด้วยผ้าน้อยชิ้น เพราะประเทศนี้เป็นประเทศร้อน เขาชอบผ้าสีต่างๆ นุ่งสำหรับส่วนล่างของร่างกาย ส่วนของร่างกายส่วนบนนั้นชายใส่เสื้อชั้นในแขนครึ่งท่อน ส่วนหญิงนั้นมีผ้าบางๆพาดไหล่หรือปิดหน้าอก การแต่งกายเช่นนี้แต่งด้วยกันทั้งคนจน คนมี จึงยากที่จะดูว่าใครรวย ใครจน นอกจากจะรู้ว่าราคาชนิดผ้าที่นุ่งห่มนั้น” แสดงว่าชาวอยุธยาชายหญิงใช้ผ้าสองชิ้น ชิ้นแรกสำหรับใช้นุ่ง แต่ส่วนบนชายใส่เสื้อ ส่วนหญิงใช้ผ้าบางๆ พาดไหลหรือคาดอก คนรวยและคนจนแต่งกายเหมือนกัน ต่างกันที่ชนิดและราคาของผ้า

สำหรับฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องสังข์ทองและลิลิตพระลอ สวนเสื้อซึ่งจะนิยมผ้าสีแดงพิเศษ สตรีชั้นสูงนิยมใช้ผ้าตาด ผ้ายกลายพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางไว้ชัดเจน ตามตำราเครื่องต้นกล่าวถึงเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ว่า “ ถ้าเสด็จไปวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์และฉลองวัดทรงพระมาลาเสร้าสูงกุเหร่าขนนกตั้ง 1 ทรงภูษาลายพื้นขาว 1 ทรงฉลองพระองค์ญี่ปุ่น ฉลองพระองค์กรองก์ได้ 1 สนับเพลาเชิงงอน สองชั้นประดับพลอยต่างๆ พระภูษาจีบโจงริ้วเขียว แดง ม่วง ทอง เชิงประดับพลอยต่างๆ ชายพกห้อยสึกรักครุยทองปัตเหล่า 1 สำหรับสุภาพสตรีชั้นสูงมีข้อกำหนดให้นุ่งห่มตามฐานะ เช่น พระอัครมเหสีใช้แพรลายทอง พรรอรรคชายา ใช้แพรดารากร หลานเธอใช้แพรดารากรเลว ภรรยาพวกศักดินาหมื่นใช้แพรเคารพภรรยาจตุสดมภ์ใช้แพรจมรวจ เป็นต้น ส่วนขุนนางจะนุ่งผ้าที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์เข้าเฝ้า ผ้าดังกล่าวจะเป็นผ้าสมปัก ซึ่งทอด้วยไหมเพลาะ กลางผืนเป็นสี และลวดลายต่างๆ หลายแบบ เช่น สมปักปูม สมปักกล่องจวน สมปักลาย สมปักริ้ว เป็นต้น เมื่อพิธีการจะต้องนุ่งสมปักตามระเบียบที่มีอยู่ เช่น ถ้าเสด็จไปทอดพระเนตรมหรสพนั้น เจ้ากรมปลัดกรมนุ่งสมปักลาย ห่มเสื้อครุย ถ้าเสด็จไปวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์เป็นการปกติ ให้เจ้ากรมปลัดกรมนุ่งสมปักไหมคาดดาบแห่เสด็จ ถ้าเสด็จฯ เป็นการปกติเป็นกระบวนประพาสและทอดพระเนตรเสือแห่งใดนั้น นุ่งผ้าแถบไหม ห่มเสื้อหนาวเกี้ยวผ้าเกี้ยว ยามปกติสันนิษฐานว่า สวมครุย มัสลิน หรือเสื้อแบบอื่นๆ นุ่งผ้าที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ผ้าม่วงไหมยกดอก ผ้าม่วงไหมไม่ยกดอก ผ้าลายเนื้อดี ซึ่งอนุญาตให้ได้ผู้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ใช้เท่านั้น

สำหรับสามัญชนทั่วไป ผู้ชายอาจนุ่งผ้าโจงกระเบน หรือสวนกางเกง ท่อนบนสวมเสื้อซึ่งเป็นผ้าพื้นย้อมสีธรรมชาติ ผ้าพื้นเมือง เช่น ผ้าตาตาราง ผ้าตาบัวปอก ที่มาจากโคราช ส่วนผู้หญิงคงนุ่งผ้าโจงกระเบนแล้วห่มสไบ หรือสวมเสื้อที่มีหลายแบบ เช่น เสื้อจีบเอว เสื้อฉีกอก เสื้อกรวมหัว ดังที่มีขายที่ย่านป่าหมากและป่าผ้าเขียว ดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่า สามัญชนจะแต่งกายแบบเรียบง่ายไม่มีกะเกณฑ์การใช้ผ้าต่างประเทศราคาแพงจะมีเฉพาะชนชั้นสูง แต่คนอยุธยาทุกชนชั้นโดยเฉพาะกษัตริย์และขุนนางจะมีความเชื่อเรื่องสีเสื้อผ้าให้ตรงกับสีกายของเทวดาสัปตเคราะห์ ประจำวันทั้ง 7 จะเกิดสิริมงคล ส่งเสริมอานุภาพ บารมี เช่น วันอาทิตย์ ใส่สีแดง วันจันทร์ใส่สีขาวนวล วันอังคารใส่สีชมพู วันพุธใส่สีเขียว วันพฤหัสใส่สีเหลืองอ่อน วันศุกร์ใส่สีฟ้าอ่อน และวันเสาร์ใส่สีดำ ตลอดจนยังถือโชคลาภว่า คนตัดเย็บผ้าใหม่ ควรทำในวันข้างขึ้นแรมที่กำหนดไว้จะได้โชคลาภ ทั้งความเชื่อและรูปแบบการแต่งกายของกรุงศรีอยุธยานี้จะมีอิทธิพลต่อการแต่งกายสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์

Tags: ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้