เปิดให้บริการวันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลา: 08:30 - 17:30 น. น.

แหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้-ผ้าทอเกาะยอเมืองสงขลา 1

  • หน้าแรก
  • แหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้-ผ้าทอเกาะยอเมืองสงขลา 1
5 ต.ค.
Awesome Image

แหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้-ผ้าทอเกาะยอเมืองสงขลา 1

ผ้าทอเกาะยอหรือผ้าเกาะยอ เป็นผ้าทอมือของชาวบ้านตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เส้นใยที่ทอเดิมใช้ฝ้ายหรือเส้นด้าย ไหม หรือด้ายปนไหม จากธรรมชาติ ปัจจุบันใช้เส้นใยสังเคราะห์ ประเภทของผ้าทอมีทั้งผ้ายกดอก ผ้าพื้น ซึ่งผ้าตาราง และผ้าหางกระรอก ความประณีตในการทอ และการประดิษฐ์ลวดลายการให้สีสันที่สวยงาม ทำให้ผ้าทอเกาะยอ เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียง ทำรายได้ให้กับท้องถิ่นจำนวนมาก

สงขลา เป็นเมืองท่าสำคัญ ทางชายทะเลฝั่งตะวันออกของประเทศไทยและเป็นชุมชนโบราณแห่งหนึ่งที่อยู่ในลุ่มทะเลสาบสงขลา มีการพบหลักฐานทางด้านโบราณคดี ที่เป็นศาสนวัตถุ ทั้งศาสนพราหมณ์และพุทธศาสนานิกายมหายาน เช่น เทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ พระพิฆเนศ และพระโพธิ์สัตว์ ซึ่งมีรูปแบบศิลปะศรีวิชัย และเก่ากว่าสมัยอยุธยา แสดงให้เห็นว่าดินแดนแห่งนี้ได้รับอารยธรรมจาก อินเดีย และเป็นนครรัฐที่อยู่ในเขตอิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งอยู่ในการควบคุมของเมืองนครศรีธรรมราช โดยอยู่ในกลุ่มเมืองสิบสองนักษัตรที่เป็นเมืองบริวารของเมืองนครศรีธรรมราช สมัยกรุงศรีอยุธยาสงขลามีฐานะ เป็นหัวเมืองชั้นนอก ช่วง ปี พ.ศ. 2162-2223 ชุมชนบริเวณริมเขาแดงได้เจริญขยายตัวเป็นเมืองสำคัญ เรียก “เมืองสงขลาริมเขาแดง” เป็นชุมชนค้าขยายตัวของการค้าต่างประเทศบริเวณปลายแหลมมลายูและหมู่เกาะเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเจ้าเมือง เป็นพวกมลายูซึ่งอพยพมาจากหมู่เกาะอินโดนีเซีย ซึ่งอาจเป็นพวกมักกะสัน (บูกิส) พวกมลายูเหล่านี้นับถือศาสนาอิสลามได้หลบหนีการค้าแบบผูกขาดของพวกดัทช์ มาเปิดสถานีการค้าแบบเสรีที่เมืองสงขลาโดยมีอังกฤษสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ในระยะแรกระหว่างปี พ.ศ. 2162-2185 เจ้าเมืองสงขลายังยอมรับอำนาจของอยุธยา แต่หลังจากนั้นก็ได้ก่อกบฏต่อกรุงศรีอยุธยา ปกครองเมืองสงขลาต่อมาจนถึงสมัยเจ้าเมืองคนที่ 2 ฝ่ายไทยจึงโจมตีสามารถยึดและทำลายเมืองสงขลาได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2223 ปลายสมัยอยุธยารัฐบาลปล่อยให้เมืองสงขลาทรุดโทรมลดฐานะเป็นเมืองขึ้นของพัทลุง ช่วง พ.ศ. 2242-2319 ย้ายเมืองไปตั้งบริเวณบ้านแหลมสน เจ้าเมืองส่วนใหญ่เป็นเมืองไทยพุทธเรียกว่า  “เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน” ในสมัยกรุงธนบุรีเมืองสงขลามีบทบาทสำคัญขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากการค้าระหว่างเมืองสงขลากับภาคใต้ของจีนเจริญขึ้น และมีคนจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองสงขลาจำนวนมาก ต่อมาคนจีนได้เข้ามามีบทบาททางการปกครองของเมืองสงขลา หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินแต่งตั้ง จีนเหยียงเป็นอากรรังนก ในปี พ.ศ. 2312 และต่อมาในปี พ.ศ. 2318 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองสงขลา มีทายาทในสายตระกูล ณ สงขลา อีก 7 คนปกครองเมืองสงขลาเป็นเวลานาน ถึง 126 ปี (พ.ศ.2316-2444) 

ในปี พ.ศ. 2320 มีกรณีพิพาทระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชและสงขลา เรื่องการเกณฑ์หญิงทอผ้า กล่าวคือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้มีหนังสือให้กรมการเมืองออกไปเอาผู้หญิงช่างทอหูก (ทอผ้า) บุตรสาวกรมการเมือง และบุตรสาวราษฎรเมืองสงขลา พาไปเมืองนครศรีธรรมราชหลายสิบคน หลวงสุวรรณคีรีสมบัติเจ้าเมืองสงขลา ซึ่งมีเรื่องหมางใจกับเจ้าพระยานครศรีธรรมราชอยู่ก่อน เกี่ยวกับการส่งส่วยภาษีอากรอื่นๆ จึงกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงธนบุรี กล่าวหาว่าเจ้าพระยานครศรีธรรมราชใช้อำนาจกับเมืองสงขลามากเกินไป ไม่ขอขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชอีกต่อไป พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีตราออกไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ให้ยกเมืองสงขลาไปขึ้นกับกรุงธนบุรีโดยตรง

การทอผ้าเกาะยอในระยะแรกใช้เครื่องทอผ้าที่เรียกว่า หูก หรือโหก หรือกี่มือ และใช้ตรนก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้กระสวยในภายหลัง ช่างทอผ้าเกาะยอมีทั้งหญิงและชาย เดิมปลูกฝ้ายไว้ใช้เอง สีที่ใช้ย้อมผ้าได้จากสีธรรมชาติ ซึ่งส่วนมากจะได้จากต้นไม้ เปลือก แก่น ราก ผล เช่น สีแดง ได้จากรากยอและอิฐ สีตองอ่อนได้จากแถลง(มะพูด) สีเหลืองได้จากขมิ้นชัน แก่นแข (แกแล) สีส้ม (แดงเลือดนก) ได้จากสะตี สีลูกหว้าม่วงอ่อน (ม่วงอ่อน) ได้จากลูกหว้า สีเขียวได้จากเปลือกสมอ ใบหูกวาง ครามแล้ว ย้อมทับด้วยแถลงอีกทีหนึ่ง สีครามได้จากคราม เป็นต้น ผ้าที่ทอระยะแรกเป็นผ้าพื้น ได้แก่ ผ้าพื้นสีผ้าตาราง ผ้าลายหางกระรอก และผ้าทอยกดอก เช่น ลายราชวัตร ลายดอกพิกุล ลายลูกแก้ว เป็นต้น ....อ่านต่อตอนที่ 2


Tags: แหล่งทอผ้าพื้นบ้านของภาคใต้