เปิดให้บริการวันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลา: 08:30 - 17:30 น. น.

แหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้-ผ้าทอเมืองนครศรีธรรมราช1

  • หน้าแรก
  • แหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้-ผ้าทอเมืองนครศรีธรรมราช1
5 ต.ค.
Awesome Image

แหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้-ผ้าทอเมืองนครศรีธรรมราช1

การทอผ้าในเมืองนครศรีธรรมราชมีทั้งการทอผ้าไหมและผ้าฝ้าย แต่ที่มีชื่อเสียงคือ  “ผ้ายกทอง” ดังได้กล่าวแล้วว่ามีเอกสารจีนเมื่อประมาณ พ.ศ. 1400-1700 บันทึกผู้คนในอาณาจักรพรลิงค์ ซึ่งต่อมาคือเมืองนครศรีธรรมราชว่า แต่งกายด้วย ผ้าฝ้าย ผ้าแพร ผ้าทอยกดอก และที่มีลวดลายเส้นเงินเส้นทอง จากหลักฐานนี้แสดงว่ามีการทอผ้ายกดอกที่เมืองนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยแล้ว ต่อมาด้วยเหตุผลทางการเมืองในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีการอพยพผู้คนจากหัวเมืองมลายูมาไว้ในเมืองปักษ์ใต้หลายแห่งรวมทั้งที่กรุงเทพฯ การเคลื่อนย้ายประชากรดังกล่าวส่งผลให้เกิดการผสมผสานกันทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในวัฒนธรรมการทอผ้าของภาคใต้ เช่น

ในปี พ.ศ. 2354 เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ยกทัพไปปราบขบถเมืองไทรบุรี ได้กวาดต้อนครัวเชลยมาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราชได้ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ตัวเมือง เช่น ช่างทอง ช่างเงิน ช่างเครื่องประดับ ให้อยู่บริเวณริมคลองข้างสนามหน้าเมืองด้านตะวันตกช่างปั้น ช่างหล่อโลหะ ประเภททองเหลือง ให้เฝ้าสวนมะพร้าวอยู่หลังวัดพระมหาธาตุวรวิหาร ส่วนพวกช่างทอผ้าอยู่บริเวณตำบลมะม่วงขาว อำเภอเมือง และตำบลนาสาร อำเภอพระพรหมในปัจจุบัน ช่างทอผ้าจากไทรบุรีได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้าจากชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทรบุรี ช่างทอผ้าชาวไทรบุรีได้สอนการทอผ้ายกให้เด็กสาว ลูกหลานกรมการเมืองนครศรีธรรมราช ตลอดจนชาวบ้านที่สนใจการทอผ้ายกนคร ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงเป็นการรับเอาวิธีการทอผ้ายกดอกของชาวมลายูมาผสมผสานกับความรู้ดั้งเดิมโดยใช้กรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อนด้วยความพิถีพิถัน ละปรับปรุงบางสิ่งบางอย่างให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมดั้งเดิมในพื้นถิ่น โดยช่างท่อผ้าที่มีความชำนาญสูง ประกอบกับวัสดุที่นำมาทอเป็นสิ่งสูงค่ามีราคา ดังนั้นผ้ายกนคร จึงเป็นผลิตผลของการผสมผสานทางวัฒนธรรม ที่สวยงามโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ละนับเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นเยี่ยมที่มีชื่อเสียงมากในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่ต้องการมากของราชสำนัก เป็นภูษาทรงของพระมหากษัตริย์ และเป็นผ้าที่พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ บุคคลสำคัญ และข้าราชบริพารชั้นสูงใช้สวมใส่เวลาเข้าเฝ้าเพื่อเป็นการแสดงสถานะของบุคคล อีกทั้งยังเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูง เช่น เจ้านาย ขุนนาง และคหบดี

นอกจากเมืองนครศรีธรรมราชจะจัด “ผ้ายกทอง” เป็นเครื่องราชบรรณาการไปถวายราชสำนักสยามแล้ว ทางราชสำนักเองได้มีหมายเกณฑ์ให้ผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช ดำเนินการทอผ้าส่งไปยังกรุงเทพฯ อยู่เสมอ พร้อมทั้งได้พระราชทานสิ่งของจำเป็นในการทอผ้ายก เช่น เส้นไหมทอง หรือทองคำส่งไปให้ ทั้งยังได้ พระราชทานทรัพย์เป็นค่าแรงในการทอ และไว้สำหรับใช้จ่ายซื้อหาสิ่งของจำเป็นอย่างอื่น เช่น  ไหมดิบจากเมืองจีน เป็นต้น ดังมีหลักฐานจดหมายเหตุรัชกาลที่ 2 กล่าวถึงในปี จ.ศ. 1175 พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ให้ขุนสวัสดิ์คุมฝ้ายผ้ายกทองเกณฑ์เข้ามาส่งลายพื้นแดง 1 ผืน ลายเจ็ดสีพื้นม่วง 1 ผืน ครบสองผืนตามเกณฑ์ แล้วให้เบิกทองสองหีบใหญ่ ครั้งหนักหาบหนึ่ง ส่งให้ขุนสวัสดิ์คุมออกไปให้เจ้าพระยานครทอผ้ายก ละยังมีข้อความในสารตราเจ้าพระยาอรรคมหา มาถึงผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชตอนหนึ่งว่า “ต้องพระราชประสงค์ผ้ายกทองนุ่งดวงเกล็ดพิมเสน ฝีมือช่างเมืองนคร สำหรับพระราชทานพระบรมวงษานุวงษฝ่ายหน้าฝ่ายใน ศรีต่างกัน 25 ผืน” นอกจากนี้ “ผ้ายกเมืองนคร” ยังมีบทบาทเป็นสื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างราชอาณาจักรสยามกับนานาอารยประเทศ เนื่องจากเป็นของพระราชทานที่มีคุณค่าสิ่งหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์พระราชทานแต่องค์ประมุขหรือประมุขของประเทศนั้นๆ เช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานผ้ารวม 17 ชิ้น มอบแด่ แฟรงคลิน ปิแอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นของขวัญอันทรงคุณค่ายิ่งจากราชสำนัก โดยเฉพาะผ้ายกทองลายเกล็ดพิมเสน ผืนที่ สวยงามเป็นพิเศษ ทอด้วยเส้นทอง (ปัจจุบันผ้าผืนนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของสถาบันสมิทโซเนียน วอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา)...อ่านต่อตอนที่ 2

Tags: แหล่งทอผ้าพื้นบ้านของภาคใต้