ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
ทรงพระนิพนธ์ เรื่อง “ซีวิวัฒน์” เมื่อ พ.ศ. 2427 กล่าวถึง การค้าผ้าในเมืองสงขลา
ซึ่งมีทั้งสินค้าที่เป็นผ้าทอพื้นเมืองและสินค้าผ้านำเข้าดังนี้ “ในตำบลท้องตลาดของชายที่ขายมีผ้าม่วง
ผ้าพื้น ผ้าขาวม้าไหม ด้าย ผ้าโสร่งไหม ด้าย ผ้าเช็ดหน้าไหม ด้าย ผ้าห่อ ผ้าโพกไหม
ด้าย ผ้าม่วงไทยผืนละ 7 เหรียญ ผ้าพื้นผู้ใหญ่กุลีหนึ่งราคาตั้งแต่ 10 เหรียญจนถึง
18 เหรียญ ผ้าพื้นเด็กกุลีหนึ่งราคาตั้งแต่ 10 เหรียญ จนถึง 12 เหรียญ
ผ้าขาวม้าไหมผืนละ 3-4 เหรียญ ผ้าขาวม้าด้ายราคากุลีละ 8 เหรียญจนถึง 10 เหรียญ
ผ้าเช็ดปากไหมกุลีละ 4-5 เหรียญ ผ้าเช็ดปากท้องไหมกุลีละเหรียญครึ่งถึง 2 เหรียญ
ผ้าเช็ดปากด้ายกุลีละ 1 เหรียญถึงเหรียญครึ่ง ผ้าโสร่งไหมที่ทอในเมืองนี้
ผืนหนึ่งราคา 8 เหรียญถึง 10 เหรียญ ผ้าห่อ ผ้าโพกไหมกุลีละ 8 เหรียญ ถึง 10
เหรียญ ผ้าโสร่งแพรที่มาจากเมืองแกถอย ราคาถูกผืนละ 4-5 เหรียญ ผ้าโสร่งด้ายกุลีละ
8 เหรียญถึง 12 เหรียญ ผ้าโพกผ้า ห่อด้วยกุลีหนึ่งราคา 4-5 เหรียญ
ราคาข้าวเปลือกในเมืองเกวียนละ 15-16 เหรียญ ข้าวสารถังละ 3 บาท 3 สลึงเฟื้อง”
ในปี
พ.ศ. 2482 กรมการเมืองสงขลาได้ขอครูสอนทอผ้าชาวจีน 2 คน ชื่อ
นายยี่สุ่นและนายพุดดิ้น ซึ่งเป็นชาวเซี่ยงไฮ้
มาสอนการทอผ้าแบบกี่กระตุกให้ชาวเกาะยอที่วัดแหลมพ้อ
และการเริ่มนำวิธีการทอผ้าแบบกี่กระตุกเข้ามาในเกาะยอเป็นครั้งแรก
และชาวเกาะยอได้ใช้กี่กระตุกทอผ้าตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
เดิมคุณภาพของผ้าทอเกาะยอไม่ดีนัก สีตก เส้นใยที่ใช้ทอแข็ง ทำให้ผ้ายับง่าย
จึงแข่งกับตลาดผ้าทอจากโรงงานไม่ได้ ประกอบกับระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ้าที่ส่งมาจากต่างประเทศได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้นเพราะราคาถูก
สีไม่ตก ผ้าเกาะยอจึงถูกลืมไปกว่า 30 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2516 สมาคมสตรีนักธุรกิจ
และวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สาขาจังหวัดสงขลา ซึ่งมีคุณหญิงชื่นจิต
สุขุม
เป็นนายกสมาคมได้เข้ามาส่งเสริมการทอผ้าในตำบลเกาะยอโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาอบรมการทอผ้าและสอนวิธีการย้อมสีเส้นใยให้กับชาวเกาะยอ
และนำเส้นใยสังเคราะห์เข้ามาใช้ในการทอผ้า ทำให้ผ้าเกาะยอมีคุณภาพดีขึ้น
และสีสันสวยงาม นอกจากนี้ทางสมาคมฯ
ยังหาตลาดและเผยแพร่แนะนำผ้าทอเกาะยอ โดยการจัดแสดงแบบเสื้อซึ่งตัดเย็บด้วยผ้า
ดังกล่าว ทั้งในจังหวัดสงขลาและกรุงเทพมหานคร ทำให้ผ้าทอเกาะยอเป็นที่รู้จัก
และกลับมาสู่ความนิยมของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง
ผ้าทอเกาะยอ
นอกจากจะมีชื่อในด้านคุณภาพทนนานแล้ว ยังมีลวดลายผ้า หลากหลายทำให้ผู้บริโภคเลือกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม
เช่น ลายราชวัตร ลายดอกพิกุล ลายดอกพิกุลล้อม ลายดอกรสสุคนธ์ ลายดอกพะยอม
ลายดอกรัก ลายดอกห้าหนึ่ง ลายเทพนม ลายพริกไทย ลายลูกแก้ว ลายดอกบุหงา ลายลูกหวาย
ลายหมากรุก ลายตาสก๊อต ลายดอกผกากรองหรือลายดอกขี้ไก่ ลายกากบาท ลายคดกริช
ลายตาสมุก หรือลายโกเถี้ยม ลายสี่เหลี่ยมหรือลายตะเครี๊ยะ ลายโซ่
ลายข้าวหลามตัดและลายหางกระรอก นอกจากนี้ ยังมีลายครุฑ ลายม้า ลายคนใส่หมวก
เป็นต้น
ลวดลายเหล่านี้ใช้ทอบนผืนผ้าชนิดต่างๆ
ได้แก่ ผ้าถุง ผ้าโสร่งชาย ผ้าขาวม้า ผ้าตัดเสื้อบุรุษและสตรี
และอาจนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และอาจนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระเป๋า
แฟ้ม หมวก เข็มกลัด เนคไท หมอน ผ้าปูโต๊ะ กล่องกระดาษทิชชู่ ซองใส่แว่นตา เป็นต้น