เปิดให้บริการวันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลา: 08:30 - 17:30 น. น.

แหล่งทอผ้าพื้นเมืองภาคใต้-ผ้าทอนาหมื่นศรี

  • หน้าแรก
  • แหล่งทอผ้าพื้นเมืองภาคใต้-ผ้าทอนาหมื่นศรี
7 ต.ค.
Awesome Image

แหล่งทอผ้าพื้นเมืองภาคใต้-ผ้าทอนาหมื่นศรี

ผ้าทอนาหมื่นศรี เป็นผ้าทอพื้นเมืองตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ผ้าที่ทอส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้าย มีทั้งประเภทที่ทอเป็นผ้าพื้น และยกดอก การทอผ้านาหมื่นศรีระยะแรกยังคงรักษาและยึดถือรูปแบบลวดลายโบราณในท้องถิ่นเป็นเอกลักษณ์

การทอผ้าในตำบลนาหมื่นศรีได้ทำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นงานเสริมจากอาชีพหลัก ซึ่งได้แก่ การทำนาทำสวน ผ้าที่ทอนอกจากจะใช้กันเองในครอบครัว ยังส่งขายให้กับหมู่บ้านใกล้เคียงด้วย การทอผ้าในท้องถิ่นหยุดชะงักในราวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  เนื่องจากมีราคาถูกที่ทอด้วยเครื่องจักรเข้ามามากมาย ชาวบ้านจึงหันไปนิยมใช้ผ้าทอด้วยเครื่องจักรแทนผ้าทอมือ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2514 มีสตรีพื้นบ้าน 3 คนซึ่งมีฝีมือการทอผ้า ได้รวมตัวกันฟื้นฟูการทอผ้าพื้นเมืองแบบโบราณเรียกกันว่า “ผ้าทอกกี่พื้นเมือง” ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 มีการรวบรวมสมาชิก 30 คน จัดตั้งเป็น กลุ่มทอผ้าขึ้น และได้นำกี่กระตุกซึ่งทอผ้าได้เร็วกว่า หูก หรือกี่พื้นเมือง เข้ามาใช้ด้วย ประมาณปี พ.ศ. 2525 สมาชิกกลุ่มทอผ้าได้ จัดตั้งสหกรณ์ทอผ้า เพื่อจัดการด้านการตลาดและได้ปรับปรุงลักษณะวิธีดำเนินงานเป็นแบบศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อให้บริการด้านวิชาการแก่สตรีในท้องถิ่นได้กว้างขวางขึ้น การรวมตัวของกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรียังเป็นแบบอย่างการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าจังหวัดต่างๆ เช่น พัทลุง นครศรีธรรมราช และภูเก็ต เป็นต้น การทอผ้าในระยะแรกใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ฝ้ายด้ายดิบ ปัจจุบันใช้วัสดุที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด เช่น ด้าย ไหม ไหมเทียม และไนล่อน ผ้าทอนาหมื่นศรีผลิตออกมาเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ กัน ได้แก่ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าโสร่งชาย ผ้าตัดเสื้อ ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดหน้า (ลูกผ้าหรือผ้านุ้ย) ผ้ากราบพระ ผ้าพาดบ่า ผ้าสไบ ผ้าพานช้าง ผ้าถวายพระ ผ้าตั้งในหนังสือเรื่อง ทอรักถักสายใยผ่านลายผ้านาหมื่นศรี ได้แบ่งลวดลายของผ้าทอนาหมื่นศรี ออกเป็น 2 กลุ่มนี้ คือ ลายท้องถิ่น และลายพัฒนาใหม่ ดังนี้

1. กลุ่มลายท้องถิ่น เป็นลวดลายโบราณดั้งเดิมที่พบในท้องถิ่น เป็นลายที่คนในท้องถิ่นคิดขึ้นเอง กลุ่มผ้าลายท้องถิ่นยังแบ่ง ผ้าพื้น และผ้าทอยกดอก 

1.1 ผ้าพื้นมี 3 ประเภทได้แก่ ผ้าพื้นธรรมดา ผ้าหางกระรอก ผ้าล่อง  

ผ้าพื้นธรรมดา มี 2 ชนิด คือใช้ด้ายยืนและด้ายพุ่งสีเดียวกัน จะได้ผ้าพื้นสีเรียบ แต่ถ้าใช้ด้ายพุ่งต่างสีกับเส้นด้ายยืน เช่น ใช้ต่วนหรือไหม ก็จะได้ผ้าสีเหลือบ

ผ้าหางกระรอก หรือลายหางกระรอก เกิดจากการนำด้ายพุ่งไปพันเป็นเกลียวเรียกว่า “คบ” เมื่อทอจะเกิดลวดลายในตัวเหมือนหางกระรอก

ผ้าล่อง คือ ผ้าริ้วหรือผ้าลายทาง เกิดจากการสลับสีด้ายพุ่งเป็นตอนๆ ไปและมีการสลับเส้นด้ายพุ่งเป็นจังหวะเท่าๆกันไปตลอด ก็จะมีชื่อเรียกลาย เช่น ลายหัวพลู ลายดอกเข็ม และลายดอกข่อย

1.2 ผ้าทอยกดอก มีความสวยงามและใช้สีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น สีแดง เหลือง เขียว น้ำเงิน ได้แก่ ลายแก้วชิงดวง ลายดอกจัน ลายดาวล้อมเดือน ลายลูกแก้ว ลายลูกแก้วโข่ง ลายลูกแก้วสี่เม็ดใน ลายราชวัตร ลายตาหมากรุก ลายสมุก ลายดอกกก ลายดอกพิกุล  ลายช่อมาลัย ลายช่อลอกอ (ช่อมะละกอ)  ลายดอกมะพร้าว ลายลูกหวาย ลายมังคุด ลายดอกเทียน ลายดอกละมุด (มะมุด) ลายหางกระรอก ลายตานก ลายราชวัตร ลายราชวัตรห้อง ลายลูกแก้วฝูง ลายลูกแก้วย่าน ลายขี้หนอน (กินรี) ลายตุ๊กตาถือดอกบัว ลายครุฑ ลายนกยูง และลายตัวอักษร เป็นต้น  สำหรับลายอักษรเดิมจะทอผ้าในผ้าพานช้าง ผ้ากราบพระพรมอาสนพระ ข้อความที่ทอจะเป็นคติสอนใจบาปบุญ และสอนให้กระทำดี ซึ่งส่วนมากเป็นฝีมืองานทอของนางฝ้าย สุขคง งานทอดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงฝีมือเชิงช่างและความเป็นปราชญ์พื้นบ้านของช่างทอชาวบ้านนาหมื่นศรี

2. กลุ่มลายพัฒนาใหม่ ในปี พ.ศ. 2542 ศูนย์ส่งเสริมศิลปะฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประสานงานกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมขอวิทยากร คือ อาจารย์สุพรรสาร โพธิ์ประเสริฐ มาสอนการทอผ้าด้วยกี่กระตุก เทคนิคการสร้างลวดลายผ้า และการเก็บตะกอลาย ให้กับสมาชิกกลุ่มทอผ้าของตำบลนาหมื่นศรี ทำให้สมาชิกรู้จักเขียนลายในกระดาษกราฟ อ่านลายสูตรจากตัวเลข เก็บตะกอ ดัดแปลงลาย สร้างลาย โดยให้สูตรตัวเลข ให้ช่างทอหัดเก็บลายด้วยตนเอง ทำให้ได้ลายผ้าทอหมื่นศรีที่พัฒนาใหม่หลายลาย การใช้สีเส้นใยสวยงาม และทันสมัย ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ได้แก่ ลายกลีบบัว ลายผกากรอง ลายกลีบกุหลาบ ลายเดือนเต็มดวง ลายสามมิติ ลายสุพรรณิกา ลายฟ้าตรัง ลายกลีบบัวแปลง

ความประณีตในการจัดลวดลายบนผืนผ้า ประกอบกับการใช้สีสันที่ทันสมัยขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรีในท้องถิ่นนี้ มีความงามที่เป็นแบบเฉพาะตัวซึ่งต่างไปจากผ้าทอมือจากแหล่งอื่นๆ 


Tags: แหล่งทอผ้าพื้นบ้านของภาคใต้, ผ้าทอนาหมื่นศรี