เปิดให้บริการวันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลา: 08:30 - 17:30 น. น.

ผ้าทอพื้นเมืองภาคใต้

4 ต.ค.
Awesome Image

ผ้าทอพื้นเมืองภาคใต้

ผ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์แต่ความสำคัญของผ้ามีมากกว่าการเป็นเพียงเครื่องนุ่งห่มเพราะผ้าถูกใช้ประโยชน์แตกต่างกันไปตามความเชื่อและประเพณีของแต่ละกลุ่มชน ดังนั้นวัฒนธรรมการทอผ้าและการใช้ผ้าจึงสามารถจำแนกถึงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ทั้งเป็นสิ่งบ่งบอกถึงฐานะของผู้คนในสังคมเป็นเครื่องบรรณาการอันมีค่าทางการเมืองและเป็นสินค้าที่สำคัญทางเศรษฐกิจความหลากหลายสวยงามของลวดลายและสีสันบนผืนผ้าแต่ละประเภทยังแสดงถึงภูมิปัญญาในการเลือกใช้เส้นใย การย้อมสี การเก็บตะกอลาย พัฒนาการของเครื่องมือทอผ้าตลอดจนฝีมือของช่างทอ  ผ้าจึงเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ชาติ

สภาพทางภูมิศาสตร์ของภาคใต้ สภาพภูมิประเทศภาคใต้เป็นแผ่นดินแคบและคาบมหาสมุทรพื้นที่เป็นทางยาว มีทะเลขนาบอยู่ 2 ข้าง อ่าวไทยและทะเลอันดามัน  ตอนบนของภาคใต้ติดต่อกับพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยส่วนภาคใต้ตอนล่างติดต่อกับประเทศมาเลเซียชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกทอดไปจากอ่าวไทย บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส บนผืนแผ่นดินมีเทือกเขาเป็นสันของคาบสมุทร ได้แก่เทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขานครศรีธรรมราชและเทือกเขาสันกาลาคีรี เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำสำคัญของภาคใต้ ได้แก่ แม่น้ำชุมพร แม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนังและแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำเหล่านี้จะไหลลงสู่ที่ราบทางตะวันออก ทำให้เกิดปากแม่น้ำเป็นอ่าวสำหรับจอดเรือเพื่อการคมนาคมและท่าเรือประมงได้ เช่น อ่าวชุมพร อ่าวบ้านดอน ข่าวสงขลาและอ่าวปัตตานี แม่น้ำเหล่านี้ยะกรรมความชุ่มชื้นสู่พื้นดินของภาคใต้ ทำให้เกิดอาชีพเกษตรกรรม บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำที่ยังมีโคลนตมไปทับถมกันบริเวณปากแม่น้ำ ประสมกับทรายที่คลื่นลมจากทิศตะวันออกพัดเข้าฝั่งทำให้เกิดสันทรายที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและการตั้งถิ่นฐาน จึงทำให้เกิดชุมชนตลอดแนวชายฝั่งมาแต่โบราณ

ชายฝั่งด้านทิศตะวันตกของภาคใต้ติดต่อกับมหาสมุทรอินเดียบริเวณจังหวัดระนอง ภูเก็ต พังงากระบี่ ตรัง สตูลมีพื้นที่ราบแคบ เพราะอยู่ใกล้เทือกเขาดังกล่าวลักษณะภูมิประเทศลุ่มๆ ดอนๆ สูงๆ ต่ำๆ มีคลื่นลมจะกัดเซาะพื้นดินชายทะเลจนแหว่งเว้า พื้นที่ทำการเกษตรกรรมมีน้อย ไม่เหมาะแก่การตั้งชุมชนเกษตรกรรมแต่ชายฝั่งทะเลด้านนี้เป็นแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ดีบุก จึงเกิดชุมชนที่ประกอบอาชีพด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และประมง โดยเฉพาะในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีชาวจีนทางตอนใต้ของประเทศจีนอพยพหนีภัยสงครามและทุพภิกขภัยเข้ามาตั้งถิ่นฐานทางชายฝั่งตะวันตกของภาคใต้โดยประกอบอาชีพค้าขายและเป็นกรรมกรเหมืองแร่กันมาก ทำให้มีชุมชนใหม่ๆเกิดขึ้นและการผสมผสานระหว่างผู้อพยพเข้ามาใหม่กับชาวพื้นเมือง

ลักษณะภูมิประเทศดังกล่าวทำให้การตั้งชุมชนทางตะวันออกและตะวันตกต่างกัน ทางตะวันออกเป็นชุมชนเกษตรกรรมและประมง ส่วนทางด้านตะวันตกจัดทำอาชีพประมง ทำไร่เลื่อนลอย มักเป็นชุมชนเล็กๆก่อน ต่อมามีพ่อค้าต่างชาติเข้ามาทำการค้าขายและทำเหมืองแร่จึงขยายเป็นชุมชนใหญ่ เคหะชุมชนในเขตจังหวัด ระนอง ภูเก็ต พังงากระบี่ ตรัง สตูล ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์จึงมีการตั้งชุมชนที่มีอารยธรรมสูงมาแต่โบราณ นักโบราณคดีเชื่อว่าตั้งแต่เขาสามแก้วจังหวัดชุมพร ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยาและอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จนถึงบริเวณรอบทะเลสาบสงขลาในเขตจังหวัดพัทลุงและสงขลา รวมทั้งสทิงพระด้วย ตลอดลงไปจนถึงแหล่งโบราณคดีเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นดินแดนที่เคยเป็นเมืองและชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนเริ่มปรากฏหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในพุทธศตวรรษที่ 9 ผ่าสมัยอาณาจักรทราวดีและ  ศรีวิชัย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11-18 มาจนถึงสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรีและรัตนโกสินทร์ในพุทธศตวรรษที่ 24 โดยเฉพาะที่อำเภอไชยาและท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดปัตตานี เคยเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต ยังมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณวัตถุซึ่งเป็นศาสนวัตถุในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ พระพุทธรูปและเทวรูปต่างๆตลอดจนลูกปัดจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าภาคใต้ของประเทศไทยได้รับอารยธรรมจาก และมีการติดต่อค้าขายกับจีน อินเดีย ตลอดจนตะวันออกกลาง

ในสมัยรัตนโกสินทร์เมืองต่างๆ ในภาคใต้ทั้งชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกและตะวันตกรวมเรียกว่า “หัวเมืองปักษ์ใต้” เป็นบริเวณที่มีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจทั้งยังเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นที่ต้องการของนักล่าอาณานิคมชาวตะวันตก เช่น ในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อังกฤษพยายามเข้ามาขอเช่าเกาะปีนังหรือเกาะหมากจนเกิดกรณีพิพาทกัน ทำให้หัวเมืองปักษ์ใต้มีความสำคัญยิ่งขึ้น ในฐานะที่เป็นเมืองหน้าด่านของไทยที่คอยดูแลเมืองอื่นๆ ที่มิใช่ชนเชื้อชาติไทย และรับผลกระทบจากการขัดแย้งกับชาติตะวันตกที่พยายามเข้ามามีอิทธิพลในบริเวณนี้

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักถึงภัยจากประเทศตะวันตก จึงเสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ถึงสองครั้ง คือ พ.ศ. 2402 พ.ศ.2406 เพื่อกระชับการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ให้ใกล้ชิดกับเมืองหลวงยิ่งขึ้น พร้อมทั้งทรงจัดการปกครองหัวเมืองเหล่านั้นเสียใหม่ โดยลดอำนาจเจ้าเมืองลง ให้ความรับผิดชอบและอำนาจเด็ดขาดต่างๆ ขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมืองต่างๆ ให้ยกเลิกฐานะเมืองพระยามหานครของปักษ์ใต้ แล้วกระจายหัวเมืองมาเป็นมณฑล ได้แก่ มณฑลชุมพร (เมืองชุมพรและสุราษฎร์ธานี) มณฑลนครศรีธรรมราช (เมืองนครศรีธรรมราช สงขลาและพัทลุง) มณฑลภูเก็ต (เมืองภูเก็ตพังงา กระบี่ และตรัง) และมณฑลปัตตานี (เมืองปัตตานีและหัวเมืองทั้งเจ็ด) มณฑลเหล่านี้ขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มณฑลถูกลดฐานะเป็นจังหวะขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย

          จากสภาพภูมิศาสตร์เหมาะเป็นเมืองท่าค้าขาย และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของภาคใต้ที่ผ่านมานับเป็นศตวรรษ แสดงให้เห็นถึงกระแสทางวัฒนธรรมภายนอกจากจีน อินเดียและตะวันออกกลาง เข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นและรากลึกในภาคใต้ และสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับกระแสการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมดังกล่าว คือผ้าซึ่งมีทั้งการรับมาใช้โดยตรงและการนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับวัฒนธรรมในพื้นถิ่น ดังนั้นในภาคใต้จึงมีผ้าหลากหลายชนิดที่ผลิตในเมืองต่างๆ สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้

Tags: ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้