เปิดให้บริการวันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลา: 08:30 - 17:30 น. น.

แหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้-ผ้าทอเมืองนครศรีธรรมราช2

  • หน้าแรก
  • แหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้-ผ้าทอเมืองนครศรีธรรมราช2
5 ต.ค.
Awesome Image

แหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้-ผ้าทอเมืองนครศรีธรรมราช2

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราโชบายที่จะปฏิรูปการปกครองเพื่อรวมศูนย์อำนาจการปกครองเข้าสู่ส่วนกลาง ทำให้เจ้าเมืองต่างๆ ขาดผลประโยชน์และมีอำนาจน้อยลง ความสัมพันธ์ระหว่างสำนักกับเมืองนครศรีธรรมราชจึงไม่ราบรื่น ดังนั้นเมื่อทางราชสำนักเกณฑ์ให้ทอผ้ายกเมืองนครส่งไปถวายตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติมา พระยาศรีธรรมราช (พร้อม) จึงส่งผ้ายกเมืองนครที่มีคุณภาพไม่ดีเท่าที่เคยส่งมาแต่ก่อนเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวาย ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขุ่นเคืองพระราชหฤทัย ดังนั้นมีเมื่อพระราชประสงค์จะนำผ้ายกนครมาจัดแสดงในงานฉลองพระนครครบ 100 ปี ปีพุทธศักราช 2425 จึงทรงรับสั่งให้หาซื้อแบ่งปันผ้ายกเมืองนครอย่างดี จากลูกหลานหรือทายาทของเจ้าพระยานครศรีธรรมราชคนก่อน ดังความในพระราชหัตถเลขาถึงพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ เมื่อวันจันทร์ขึ้น 4 ค่ำ เดือนสาม ปีมะเส็ง ตรีศกศักราช พ.ศ. 2424 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ถึงคุณสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ด้วยฉันอยากได้ผ้ายกนคร ผ้ายกเมืองสงขลา และผ้าเช็ดปากยกสีต่างๆ ลายต่างๆ ทั้งผ้านุ่ง ผ้าเช็ดปาก คิดว่าในรายการเกณฑ์เอศซฮบิเซน ก็คงมีมาบ้าง แต่ก็คงเป็นอย่างเลวที่สุด จึงจะได้ส่งมา ถ้าจะสั่งให้ทำตามธรรมเนียมก็คงจะได้เลวเหมือนอย่างที่สั่งไปครั้งก่อน ครั้งนี้อยากจะได้ผ้าที่ดีจริงๆ ถ้าได้ผ้าแต่ละครั้งเจ้าพระยานครยิงดี ของที่ลูกหลานเขาคงจะมีอยู่ด้วยกันทุกคนเธอจะช่วยคิดอ่านอย่างใด เป็นอย่างขอซื้อปันกัน ถึงแพงก็ไม่ว่า ขอแต่ให้ได้ดีอย่างเดียว”

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเกี่ยวกับผ้าทอชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช ในรายงานเกี่ยวกับผลประโยชน์การทำมาหากินและสินค้าของเมืองศรีธรรมราชในหนังสือ ชีวิวัฒน์ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อปีพ.ศ. 2427 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “ราคาสิ่งของที่ขายในตลาดผ้านุ่งผ้าห่มผ้ายกไหม ผ้ายกทอง ไม่มีขายในตลาด เป็นของทอเฉพาะผู้สั่งซื้อ และเป็นของทำในบ้านผู้ว่าราชการเมือง กรมการ ผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นต้น ผ้าม่วง ราคาผืนละ 5-6 เหรียญ ผ้าริ้ว ผ้า ผ้าพื้น ผืนละ 6 ก้อน หรือ 2 ยำไป หรือ 6 ตำลึง ผ้าขาวม้าไหมผืนละ 7 เหรียญ ผ้าขาวม้าด้าย กุลีละ 8 บาท ถุง 10 บาท ผ้าเช็ดปากผ้าขาวกุลีละ 4 บาท ถึง 5 บาท ผ้าโสร่งไหม ผืนละ 4-5-6 เหรียญ ผ้าโสร่งด้ายผืนละ 1 บาท”

จากรายงานนี้แสดงให้เห็นว่ามีการทอผ้าหลายชนิดในเมืองนครศรีธรรมราชเวลานั้น ผ้ายกทอง ไม่มีขายในตลาด จะเป็นผ้าที่ทอเมื่อมีผู้สั่งประสงค์จะซื้อและทอเฉพาะในบ้านของผู้ว่าราชการเมืองและกรมการผู้หลักผู้ใหญ่เท่านั้น เนื่องจาก “ผ้ายกทอง” เป็นของมีค่าหายาก และใช้เป็นผ้าทรงของกษัตริย์พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชบริพาร และขุนนางผู้ใหญ่เท่านั้น ดังมีความในเพลงกล่อมเด็กกล่าวไว้ว่า

“เมืองคอนเหอ  มีผ้าลายทอเป็นพับพับ

จัดเป็นสำหรับ  ประดับทองห่าง

จะนุ่งก็ไม่สม  จะห่มก็ไม่ควรเจ้าเอวบาง

ประดับทองห่างห่าง สำหรับขุนนางนุ่ง”

ผ้ายกนครศรีธรรมราชแบบดั้งเดิม คือ ผ้าทอยกทอง ชนิดที่ช่างทอผ้าเรียกว่า “ขนาด 12 เขา” ใช้คนทอถึง 3 คน นั่งเรียงกัน ผ้าที่ได้เป็นผ้าหน้ากว้าง 39 นิ้ว ใช้นุ่งใช้ห่มได้สะดวก นอกจากบ้านของกรมการเมืองนครศรีธรรมราชเก่า แหล่งทอผ้ายกขนาดใหญ่อยู่ที่ บ้านเลขที่ 735 ซอย ณ นคร 3 บ้านท่าม้า อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบ้านเก่าของ คุณเพิ่ม ณ นคร ภรรยาพระยาศิริธรรมบริรักษ์ (ถัด ณ นคร) ธิดาพระยาวิชิตสรไกร (กล่อม)  แต่เดิมบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งโรงละครชาตรี ของจังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากผ้ายกทองแล้ว ผ้ายกนครยังมี ผ้ายกเงิน ผ้ายกไหม ผ้ายกฝ้าย ซึ่งขึ้นกับชนิดเส้นพุ่งที่ใช้ทอยกดอกให้เกิดลวดลายในกรรมวิธีของการทอผ้ายกเมืองนคร ดังนี้

          การทอผ้ายกเมืองนคร การทอผ้ายก เป็นการทอโดยเพิ่มลวดลายให้พิเศษสวยงามขึ้น ลวดลายจะยกสูงกว่าเนื้อผ้าด้วยวิธีการเก็บเขาหรือตะกอลายที่เส้นยืนและด้วยวิธีการทอที่ยกเขาหรือตะกอลายขึ้นเส้นยืนบางกลุ่มจะถูกดึงขึ้น เปิดเป็นช่องสอดไม้นัดตั้งขึ้นเปิดช่องให้กว้าง เพื่อจะพุ่งกระสวยได้สะดวก เมื่อพุ่งจะเข้าไปสานขัดกับเส้นยืน กระทบฟืมเพื่อให้เส้นพุ่งอัดแน่นกับเส้นยืน โดยทอสลับกับการทอเนื้อผ้า ไปจนครบตะกอลายดอก ก็จะเกิดลายยกดอกนูนขึ้นมาบนเนื้อผ้า หากใช้เส้นไหมสีมาเป็นเส้นพุ่งทอให้เกิดลวดลาย เรียกว่า ผ้ายกไหม ถ้านำทองคำมาหรือเงินมารีดเป็นเส้นแล้วนำมาปั่นควบกับเส้นไหม เรียกว่า เส้นไหมทองไหมเงิน นำมาใช้ทอเป็นเส้นพุ่งพิเศษเรียกว่า ผ้ายกทอง หรือผ้ายกเงิน ซึ่งบางครั้งในสมัยโบราณนำทองแดงมารีดเป็นเส้นแล้วกะไหล่ทองหรือไหล่เงิน แล้วนำมาปั่นควบกับเส้นไหมหรือเส้นด้าย บางครั้งพบเส้นทองหรือเส้นเงิน ทำจากกระดาษทาสีทองสีเงินแล้วตัดเป็นเส้นนำมาปั่นควบกับไหมหรือด้ายนำมาทอผ้า...อ่านต่อตอนที่ 3

Tags: แหล่งทอผ้าพื้นบ้านของภาคใต้