เปิดให้บริการวันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลา: 08:30 - 17:30 น. น.

แหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้-ผ้าทอเมืองนครศรีธรรมราช3

  • หน้าแรก
  • แหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้-ผ้าทอเมืองนครศรีธรรมราช3
5 ต.ค.
Awesome Image

แหล่งทอผ้าพื้นเมืองของภาคใต้-ผ้าทอเมืองนครศรีธรรมราช3

ในรายงานการวิจัยเรื่อง “การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาวัตถุและกระบวนการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานชุมชนใน ผ้าทอพื้นบ้านทุกภาค กรณีศึกษา : การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้ายกเมืองนคร กลุ่มทอผ้าขอนหาด อำเภอซะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช”ของจันทรา ทองสมัคร และคณะ ได้แบ่ง ลวดลายผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1.      กลุ่มลายพันธุ์ไม้ แบ่งออกเป็น  2 กลุ่ม ได้แก่

1.1  ลายดอกไม้ ได้แก่ ลายดอกพิกุล ลายดอกพิกุลแก้ว ลายพิกุลเถื่อน ลายดอกพิกุลล้อม ลายดอกพิกุลก้านแย่ง ลายดอกพิกุลสลับลายลูกแก้ว ลายดอกมะลิตูมก้านแย่ง ลายดอกไม้ ลายดอกเขมร

1.2  ลายต้นไม้ ได้แก่ ลายใบไม้ ลายตาย่านัด (ลายตาสับปะรด) ลายหัวพลู ลายเม็ดพริกไทย ลายเครือเถา

2.      กลุ่มลายสัตว์ ได้แก่ ลายม้า ลายหางกระรอก ลายหิ่งห้อยชมสวน ลายแมงมุมก้านแย่ง

3.      กลุ่มลายเรขาคณิต ได้แก่ ลายเกล็ดพิมเสนทรงสี่เหลี่ยม ลายเกล็ดพิมเสนรูปเพชรเจียระไน ลายก้านแย่ง ลายราชวัตร ลายเก้ากี่หรือลายตาสมุก ลายตาตาราง ลายลูกโซ่ ลายลูกแก้ว ลายฝูงแก้วฝูง

4.      กลุ่มลายเบ็ดเตล็ด ได้แก่ ลายไทยประยุกต์ ลายไทยประยุกต์ผสม ลายพิมพอง และยังมีลายอื่นๆ ที่ไม่ทราบชื่อลายไทยประยุกต์

ส่วนลายผ้าเชิงหรือลายกรวยเชิง มี 3 ลักษณะดังนี้

1.      ลายกรวยเชิงซ้อนหลายชั้น พบในผ้ายกนคร ซึ่งเป็นสำหรับเจ้าเมืองขุนนางและชนชั้นสูงและพระบรมวงศานุวงศ์ นิยมทอด้วยเส้นทอง ลักษณะกรวยเชิงจะมีความละเอียด อ่อนช้อย ลวดลายหลายลักษณะประกอบกัน ริมผ้าจะมีลายขอบผ้าเป็นแนวยาวทั้งผืน กรวยเชิงส่วนใหญ่มีตั้งแต่ 2 ชั้นและ 3 ชั้น ซึ่งประกอบรวมกับลายประจำยามก้ามปู ลายประจำยามเกลียวใบเทศ ลายเครือเถา ลักษณะพิเศษของกรวยเชิงรูปแบบนี้คือ พื้นผ้าจะมีการทอสลับสีด้วยเทคนิคการมัดย้อมเป็นสีต่างๆ เช่น แดง น้ำเงิน ม่วง ส้ม น้ำตาล ลายท้องผ้าทั้งผ้าพื้นและยกดอก เช่น ลายเกล็ดพิมเสน ลายดอกพิกุล เป็นต้น

2.      กรวยเชิงชั้นเดียว นิยมทอด้วยเส้นทองหรือเส้นเงิน จะพบในผ้ายกเมืองนคร ซึ่งเป็นผ้าสำหรับคหบดี และเจ้านายลูกหลานเจ้าเมือง ลักษณะกรวยเชิงจะสั้น ทอคั่นด้วยลายประจำยามก้ามปู ลายประจำยามเกลียวใบเทศ ไม่มีลายขอบ ในส่วนของลายดอกเขมร ลายลูกแก้วฝูง เป็นต้น

3.      กรวยเชิงขนานกับริมผ้า ผ้ายกเมืองนครลักษณะนี้เป็นผ้าสำหรับสามัญชนทั่วไปใช้นุ่ง ลวดลายกรวยเชิงถูกดัดแปลงมาไว้ที่ริมผ้าด้านใดด้านหนึ่ง โดยผสมดัดแปลงนำลายอื่นมาเป็นลายกรวยเชิง เพื่อให้สะดวกในการทอ และการเก็บลายจะน้อยลง ทำให้สามารถทอได้เร็วขึ้น ผ้าลักษณะนี้มีทั้งทอด้วยไหม ทอด้วยฝ้าย หรือผสมทอฝ้ายแกมไหมส่วนมากจะเป็นผ้านุ่งสตรี หรือใช้เป็นผ้านุ่งสำหรับเจ้านาคในพิธีอุปสมบท นอกจากผ้ายกดอกแล้วประชาชนทั่วไปนิยมนุ่งผ้าตาเป็นผ้าโจงกระเบนทั้งชายหญิง และยังมี ผ้าเก้ากี่ ผ้าราชวัตร และผ้าพื้น เป็นต้น

การทอผ้ายกนครแบบโบราณเลิกทอหรือหยุดไปเนื่องจากวัสดุที่ใช้ทอมีราคาแพง เช่น ทองคำ นอกจากนี้การสืบทอดกระบวนความรู้ในการเก็บลายหรือก่อเขา ตลอดจนการทอแบบยกดอกที่ซับซ้อนทำกันเฉพาะในครอบครัว ดังนั้นถ้าลูกหลานของช่างทอไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ การทอผ้ายกโบราณก็ค่อยๆ หมดไป ประการสำคัญคือรัฐบาล สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประกาศรัฐนิยม ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของประชาชนเป็นแบบตะวันตกมากขึ้น คือ ให้ชายและหญิงสวมหมวก ผู้ชายใส่กางเกง ผู้หญิงใส่ผ้าถุง หรือกระโปรง ห้ามนุ่งผ้าโจงกระเบน เมื่อออกนอกบ้าน โดยเฉพาะห้ามข้าราชการนุ่งผ้าม่วงหรือผ้าโจงกระเบนโดยเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2478 ดังนั้นการทอผ้ายกแบบโบราณด้วยกี่มือ หรือหูก ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เก หรือ โหก จึงหมดไป ขณะเดียวกันในช่วงสมัยจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีนี้มีการส่งเสริมให้ประชาชนทอผ้าใช้เอง และนำกี่กระตุกเข้ามาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งจ้างครูจีนเข้าสอนการทอผ้าด้วยกี่กระตุก เช่นที่เกาะยอ และพุมเรียง ทั้งยังส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกฝ้ายชนิดสีขาวและสีกากี เพื่อใช้ในการทอผ้า แต่ชาวบ้านไม่นิยมปลูกเนื่องจากฝนตกชุกเกินไป ทำให้เส้นใยไม่ดี เปื่อยขาดง่าย ประการสำคัญคือกรรมวิธีการเข็นฝ้ายและการย้อมสีเส้นฝ้ายหรือเส้นด้ายแบบโบราณนั้นทำยาก หลายขั้นตอนกว่าจะแล้วเสร็จ ทั้งสีที่ชาวบ้านใช้ย้อมเองก็ไม่ทนทาน สีไม่ตกไม่สดใส สีส่วนมากจะเป็นสีขรึม เช่น สีคราม เป็นต้น ต่อมาการทอผ้ายกดอกหน้าแคบลง ตลอดจนความละเอียดประณีตก็มีน้อยลง ทั้งนี้ในสมัยโบราณนั้นใช้กี่มือหรือหูก ซึ่งฟันฟืมทำมาจากต้นคลุ้ม แต่ปัจจุบันใช้กี่กระตุกซึ่งมีฟันฟืมทำด้วยเหล็กทำให้ผ้าทอเนื้อหยาบ นอกจากนี้เส้นใยที่ใช้ยังมีชนิดและขนาดต่างกันด้วย เช่นแต่เดิมใช้เส้นไหมและฝ้ายจากธรรมชาติเป็นวัสดุหลักในการทอ ปัจจุบันนิยมซื้อวัสดุสำเร็จรูปประเภทใยสังเคราะห์ พวกโพลิเอสเตอร์ และเรยอง จากกรุงเทพฯ ซึ่งช่างทอผ้าเรียกว่า “ไหมโทเร” และยังนิยม “ไหมอิตาลี” เพราะคงทนกว่าและไม่ยับง่าย ดังนั้นจึงทำให้ลวดลายผ้ายกนครแบบเก่ามีความละเอียดงดงามแตกต่างไปจากผ้ายกดอกใหม่

          ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา มีการฟื้นฟูการทอผ้ายกดอกด้วยกี่กระตุกเกิดขึ้นทั่วไปในจังหวัดนครศรีธรรมราช เช่น ที่บ้านหนองเข้ บ้านม่วงขาว บ้านม่วงปลายแขน บ้านม่วงสองตัน บ้านคลองคอน ในเขตอำเภอเมือง โดยเฉพาะที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราชสนับสนุนโครงการทอผ้ายกโดยติดต่อคุณวรจิต ศรีวัชรินทร์ให้ไปอบรมการทอให้กับนักโทษหญิง เพื่อส่งเสริมให้มีอาชีพหลังพ้นโทษจากเรือนจำ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทอผ้าต่างๆ ที่บ้านเนินมวง บ้านตรอกแค บ้านขอนหาด ตำบลขอนหาด อำเภอชะอวด บ้านทำเนียบ บ้านโคกตรุด ตำบลควนพัง อำเภอร่อนพิบูลย์ บ้านเนินธัมมัง  บ้านบ่อล้อ ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ บ้านมะม่วงตลอด ตำบลนาสาร อำเภอพระพรหม เป็นต้น  ช่างทอผ้าจากแหล่งดังกล่าว บางคนก็เป็นช่างทอผ้าอิสระคือหาทุนทอผ้าไปขายเอง บางคนก็มีนายทุนหาวัสดุมาให้ทอ ได้ค่าจ้างเป็นค่าแรงตามจำนวนผ้าที่ทอได้ บางกลุ่มรวมตัวกันจัดระบบคล้ายสหกรณ์ คือกลุ่มจะจัดซื้อวัสดุมาขายให้สมาชิก เมื่อสมาชิกทอผ้าได้ก็ขายให้กับกลุ่ม หรือให้กลุ่มเป็นตัวแทนจำหน่ายให้ มีหน่วยงานราชการต่างๆ เข้าไปช่วยส่งเสริมการทอผ้าในแหล่งดังกล่าว เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ช่วยวิจัยในเรื่องของการสืบทอดลวดลายของผ้าทอยกดอกแบบโบราณ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ส่งเสริมการออกแบบผ้าทอยกดอกลายใหม่ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพขึ้นที่บ้านเนินธัมมัง อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

Tags: แหล่งทอผ้าพื้นบ้านของภาคใต้