ในอดีตกลุ่มทอผ้าส่วนใหญ่ใช้กี่พื้นบ้าน
หรือหูก (สำเนียงภาษาใต้เรียกว่า “โหก”) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้า
ซึ่งมักจะผูกหูกหรือกี่ทอผ้าไว้ตามใต้ถุนเรือนโดยการฝังเสาแล้วยึดโครงสร้างของหูกไว้ในพื้นดิน
หรืออาจทำฐานซึ่งทำจากไม้วางไว้บนลานใต้ถุนเรือน ซึ่งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้านั้นโดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ตามธรรมชาติแวดล้อม
เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้ลำต้นค้อ หรือไม้ไผ่ทำซี่ฟืม
จังหวัดตรังใช้ลำต้นคลุ้มที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในหมู่บ้านมาทำซี่ฟืม
และใช้ไม้ไผ่ทำกระบอกตรน เป็นต้น ทำให้เงินทุนที่ใช้ในการผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ค่อนข้างถูก
แต่ในปัจจุบันช่างทอผ้ารุ่นใหม่นิยมใช้กี่กระตุกมาใช้ทอผ้าแทนการใช้กี่
เนื่องจากทอง่ายและรวดเร็วกว่าการทอผ้าด้วยกี่พื้นบ้านหรือโบราณ
แต่ก็ยังมีช่างทอผ้าในบางกลุ่มที่ยังคงใช้กี่พื้นบ้านแบบดั้งเดิมทอผ้าที่มีลวดลายซับซ้อน
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่างทออาวุโสแทบทั้งสิ้น เช่น กลุ่มทอผ้าสตรีบ้านท่ากระจาย (จันทรา ทองสมัคร, 2554; อุบลศรี อรรถพันธุ์, 2554)
กี่พื้นบ้านหรือกี่กระทบ
เป็นโครงสี่เหลี่ยมมี 4 เสา ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง
มีไม้พาดประกอบโครงกี่ทอผ้า รวมทั้งไม้กระดาน สำหรับนั่งทอ ส่วนใหญ่อุปกรณ์ประกอบกี่พื้นบ้านทำด้วยไม้
องค์ประกอบหลักของกี่พื้นบ้านได้แก่
ฟันหวีหรือฟืม พันหรือไม้พันผ้า ลูกพันหรือกระดานม้วนเส้นยืน เขาเหยียบหรือตะกอลายขัดพื้นผ้า
ตีนฟืมหรือตะกอลายยกดอก นัดไจหรือไม้คะนัด นัดสอดหรือไม้ดาบ กระสวย ลูกตุ้ง
ลูกกะหยก หลอดด้ายพุ่ง
จากการลงสำรวจพื้นที่ทั้ง 9 แห่งพบว่ามีเพียงกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านพุมเรียง (ทอผ้าด้วยกี่พื้นบ้านเฉพาะที่บ้านช่างทอ) กลุ่มทอผ้าบ้านท่ากระจาย (ทอผ้าด้วยกี่พื้นบ้านทั้งหมด) ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง (ทอผ้าด้วยกี่พื้นบ้านเฉพาะผ้ายกเมืองนคร) กลุ่มผ้าทอนาหมื่นศรี(ทอผ้าด้วยกี่พื้นบ้านเฉพาะที่บ้านช่างทอ) ที่ยังคงมีการใช้กี่พื้นบ้านในการทอผ้าลายโบราณอยู่
กี่กระตุก พัฒนามาจากกี่พื้นบ้าน
โดยการพุ่งด้ายเส้นพุ่งหรือเส้นนอน ด้วยการกระตุกสายบังคับให้เกิดแรงกระแทก
ส่งกระสวยให้วิ่งไปแล้วกลับมา สลับกับการกระทบฟืม
ทำให้ทอผ้าได้รวดเร็วกว่าการทอผ้าด้วยกี่ธรรมดา กี่กระตุก
เป็นการเรียกตามลักษณะการพุ่งกระสวยที่วิ่งสลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว กี่กระตุกเป็นโครงสี่เหลี่ยมมี
4 เสา ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง โครงสร้างคล้ายกี่พื้นบ้าน
แต่อุปกรณ์ประกอบแตกต่างกัน เช่น รางกระสวย เชือกกระตุก กี่กระตุกพัฒนามาจากกี่พื้นบ้าน
ทำให้ทอได้เร็วและสะดวกขึ้น องค์ประกอบหลักของกี่กระตุกได้แก่ รางกระสวย
ฟันหวีหรือฟืม ไม้ม้วนผ้า เพลาหรือแกนม้วนด้าย ตะกอหรือเขา ไม้เหยียบตะกอ ไม้คะนัด
กระสวย สายกระตุก สายโยงตะกอ จากการลงสำรวจพื้นที่ทั้ง 9 แห่ง พบว่ากลุ่มทอผ้าส่วนใหญ่จะเปลี่ยนมาใช้กี่กระตุกในการทอผ้า